จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การฝากกระแส...ความฉลาดใน อธิษฐานบารมี ตอนที่ ตอนจบ

การฝากกระแส...ความฉลาดใน อธิษฐานบารมี ตอนที่ ตอนจบ




ปกิณกะเทคนิคการฝากกระแส



1. การฝากตนเองเป็นลูก หรือลูกศิษย์แก่ พระฯหรือ เทพ-พรหม หรือครูบาอาจารย์นับถือ
2. การฝากกระแสสร้างบารมีต่อผู้มีกำลังท่านอื่นๆ (ที่บางสายเรียกว่าการแบ่งภาค)
3. การฝากกระแสไว้กับวัด พระพุทธรูป พระเครื่อง
4. การฝากกระแสไว้กับธาตุ เส้นเกษา หรือพระธาตุ
5. การฝากกระแสไว้ที่พระนิพพาน
6. การฝากกระแสไว้ที่ดุสิต
7. การฝากกระแสไว้เพื่อค้ำเมือง
8. การฝากกระแสไว้กับอักขระ คาถา
9. การฝากระแสไว้ในอากาศ หรือวิญญานธาตุ หรือองค์สัญญา
10. การฝากกระแสเพื่อการจุติใหม่โดยไม่ผ่านภูมิสวรรค์ หรือพรหมโลก (ตายแล้วเข้าท้องเลย)
11. การฝากกระแสไว้ที่อาทิสมานะกาย หรือเจตภูติ หรือเทพผู้ที่มีศักดา เพื่อการทำหน้าที่แทน อย่างการรับบน ตลอดจนเพื่อเป็นกำลังกั้นตัวเองมิให้ตกอบาย หรือกลับมาสอนสรรพวิชาให้แก่ตนเอง
12. การฝากกระแสไว้ที่สรรพว่านยาของพระฤาษี
13. การฝากกระแสไว้ที่ธาตุวัตถุที่ประกอบไปด้วยความเชื่อ เช่น เหล็กไหล ดวงแก้ว
14. การประทับรอยพระพุทธบาท การอธิษฐานประธาตุ
15. การฝากกระแสไว้เพื่อสร้างบารมียามหลับ หรือทุกขณะเวลาทั้งยามหลับยามตื่น ยามรู้ตัว ยามมิรู้ตัว
16. การฝากกระแสเพื่อปรนนิบัติ และเรียนรู้สรรพวิชาจากครูบาอาจารย์ แม้มิมีโอกาสได้อยู่ไกล้ครูบาอาจารย์ก็เหมือนอยู่ไกล้ เพราะไม่ว่าท่านจะสอนใครเราก็รับรู้ ได้ยิน หรือสามารถเข้าใจได้โดยง่าย เมื่อมีคนมาเล่าให้ฟัง (มุขหากินผมล่ะ อย่างนี้โบราณท่านเรียกครูพักลักจำครับ)
17. อื่นๆ

จากที่อธิบายมาข้างต้นนั้น หากผู้เข้าใจในเรื่องของกระแส-เรื่องของพลังงานได้ระดับหนึ่งแล้ว ได้อ่านปกิณกะเทคนิคการฝากกระแสตามตัวอย่างข้างต้น ก็คงพอจะทดลองทำ หรือพัฒนาให้ปลีกย่อยพิสดารยิ่งๆขึ้นไปได้

อนึ่งหากยังไม่เข้าใจประเด็นใดหรืออยากทราบเทคนิควิธีพิเศษเพื่อการทดลองทำ ดูนั้นก็ให้ถามมาได้เพื่ออธิบายเป็นประเด็นจุดๆไปอย่างละเอียดอีกทีครับ

อันวิชาของพระฯ วิชาของหลวงปู่นั้นมีมากมายกว่า 108 ประการขอเพียงมีจิตเปิดกว้างรับสิ่งใหม่ๆ หมั่นพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ที่สำคัญให้หาเป้าหมาย หาที่ลงให้เจอเพื่อมิให้หลงทาง(พระนิพพาน) การปฏิบัติของท่านก็จะก้าวหน้าลึกซึ่งยิ่งขึ้นเรื่อยๆไป จนเมื่อถึงจุดลงก็จะพบกับความสามัญอีกครั้งหนึ่ง




ขอโมทนาบุญกับคุณโด่ง ยุทธภูมิ เจ้าของบทความจ้า

การฝากกระแส...ความฉลาดใน อธิษฐานบารมี ตอนที่ 2

การฝากกระแส...ความฉลาดใน อธิษฐานบารมี ตอนที่ 2


วิธีการฝากกระแส



1. อาศัยการสร้างรูปธรรม
เช่น การสร้างรูปเคารพของครูบาอาจารย์ การสร้างหรือการอธิษฐานจิตประจุในพระเครื่องพระบูชาเพื่อฝากระแสไว้กับพระฯ เพื่อหวังเอาผลบุญกับทุกดวงจิตที่เลื่อมใสหรือเข้ามากราบไหว้ร่วมบุญกับ รูปธรรมธาตุที่ตนได้สร้างเอาไว้ รวมไปถึงการสร้างวัดหรือโบสถ์วิหาร ทุกครั้งที่มีผู้เจริญในธรรมมาอาศัยโบสถ์วิหารนั้นสร้างกุศล ผู้สร้างจึงได้ผลบุญด้วย ด้วยเหตุนี้ผลแห่งวิหารทานจึงมากกว่าสังฆทานมากมายนัก เช่นเดียวกับการสร้างหนังสือธรรมมะ เพราะเป็นเหตุแห่งการบรรลุธรรม พ้นจากความทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน เหตุนี้ "สรรพทานัง ธรรมะทานัง ชินาติ" การให้ธรรมมะเป็นทานจึงชนะการให้(วัตถุทาน)ทั้งปวง เป็นต้น


2. อาศัยกำลังจิตจับกับนามธรรมหรือรูปธรรม อย่าง การนึกถึงหลวงปู่ดู่ การอธิษฐานฝากตัวเป็นลูกหรือ ฝากตัวเป็นศิษย์ ขอให้ท่านดูแลไปตลอดจนกว่าจะนิพพาน เพื่อการไม่คลาดจากท่าน หรือการไม่คลาดจากความดีแบบท่าน ให้ทุกๆชาติได้มีสัมมาทิฐิ หรือย่างสมัยที่มีการทำศึกสงครามอย่างตอนที่ทำการปลุกทัพทำพิธีก่อนออกศึก นั้น ทุกดวงจิตของทหารจะจดจ่ออยู่ที่แม่ทัพนายกองหรือกษัตริย์ ครั้นเมื่อตายลงแล้วเกิดใหม่ จิตที่ปักอยู่ก็จะทำให้ตนเองเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าตนคือกษัตริย์พระองค์นั้น กลับชาติมาเกิด แต่ข้อดีก็คือ ท่านผู้นั้นจะมีกำลังมาก(ผลจากอนุโมทนา)และทำอะไรได้คล้ายต้นพลังงาน ซึ่งก็จะเป็นการเร่งรัดบารมีได้แบบหนึ่งครับ

3. การอนุโมทนา เป็น การเอาจิตเลื่อมใสในคุณความดีของผู้อื่น (อนุแปลว่าตาม โมทนาแปลว่ายินดี) กระแสพลังงานบุญ-คุณความดีจะเข้าสู่ผู้อนุโมทนาหากทรงกำลังใจบริสุทธิ์ ผ่องแผ้วจะทำให้ได้ผลบุญนั้นเฉกเช่นผู้กระทำก่อน ถึง 90 ส่วนโดยประมาณ

แต่หากสักแต่ว่ากล่าวอนุโมทนาไป โดยจิตไม่ได้เลื่อมใสศรัทธาในบุญนั้นอย่างแท้จริง ก็จะได้อานิสงส์เพียง 5-10 ส่วนขึ้น ไปโดยประมาณ ด้วยเป็นกำลังผลของการขจัดอัตตา และผลของฌานสมาบัติ(ผู้ทรงพรหมวิหาร ย่อมทรงฌานสมาบัติด้วย เนื่องเพราะอารมณ์เป็นหนึ่งเดียวกันหรือไกล้เคียงกันนั่นเอง) และผลจากการทำจิตน้อมในกุศล ผลของกุศลนั้นจึงได้น้อมเข้าใส่ตัวนั่นเอง.....


4. การฝากกำลัง(กระแส) เกิดขึ้นได้ทั้งสองทาง คือ
ผู้มีกำลังมาก ฝากกระแสให้ผู้มีกำลังน้อย อย่าง หลวงปู่ทวดฝากกระแสให้กับสาวกหรือพระโพธิสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับท่าน ทำให้การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์หรือสาวกท่านนั้นมีกำลังที่จะสร้างสรรค์ อะไรต่อมิอะไรได้มาก แต่หากดูกระแสได้ไม่ลึกพอ จะเข้าใจคลาดได้ว่า ตนคือเจ้าของกระแสที่ฝากมาจริงๆ อย่างกรณีที่มีคนเข้าใจว่าตนคือพระนเรศวร หรือพระศรีย์อาริย์มากมายนั่นเอง

เพื่อการติดตามไม่คลาดจากคุณธรรมของผู้มีกำลังมากกว่า ผลก็คือ เมื่อต้นกระแสทำกุศลเช่นใด ตนเองก็ได้ผลเช่นนั้นด้วย แต่จะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายตัวด้วยกัน

5. การเสริมกำลังหรือการร่วมกำลัง คล้าย กับข้อที่ 4 ต่างกันที่จุดประสงค์ กล่าวคือ มักจะทำในผู้ที่มีกำลังมากให้แก่ผู้ที่มีกำลังเสมอกันหรือกำลังน้อยกว่า เพื่อให้ท่านเหล่านั้นทำงานได้คล่องขึ้นหรือเกิดผลงานได้มากขึ้น เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของพระโพธิสัตว์ ที่ช่วยให้พระโพธิสัตว์ต่างๆด้วยกัน ทำงานได้มากขึ้น หรือมีบารมีเต็มเร็วมากขึ้น....อย่างเช่น เมื่อเห็นพระโพธิสัตว์ท่านใดทำงานอยู่ อย่างการสร้างวัด เราก็อธิษฐานรวมบารมีของทั้งพระฯ และของตนเองอธิษฐานครอบเป็นวิมานแก้วบารมี 10 ทัศให้แก่ท่านนั้น แล้วท่านนั้นก็จะทำงานต่างๆได้ลุล่วงเร็วขึ้น-มากขึ้น ผู้ฝากเองก็ได้กระแสบุญในการนั้นด้วย

มองดูคล้ายอนุโมทนาใช่ไหมครับ แต่ตรงนี้ก้าวไปอีกขั้นของอนุโมทนา ตรงนี้ก็คือการทำเมตตาและกรุณาให้บังเกิดขึ้นด้วยกำลังจิต(พรหมวิหาร 4 ใช้งานในองค์ฌานสมาบัติ)นั่นเอง....

ประโยชน์หรือผลที่ได้จากการฝากกระแส

1. บารมีเต็มเร็วขึ้น ไม่คลาดจากกุศล
2. โอกาสในการตกอบายภูมิน้อยลงหรือไม่มี
3. เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า หรือพระนิพพานได้โดยง่าย
4. ทำให้ดวงจิตอยู่ในความดีตลอดเวลา
5. งานเพื่อพระศาสนาสามารถสำเร็จลุล่วงได้โดยง่ายหรือเกิดกำลังมากขึ้น

ข้อเสียของการฝากกระแสไม่ถูกทาง
1. หากฝากกระแสผิดทางอาจทำให้หลงอบาย อย่างกรณีผู้ติดตามท่านฮิตเลอร์ ก็เป็นเหตุให้เเล่นไปตามท่านฮิตเลอร์ เป็นต้น

2. การเข้าสู่พระนิพพานอาจช้าลง ในกรณี ของผู้ติดตามโดยแท้(ไม่ละไปตามผู้อื่น)ของพระโพธิสัตว์ผู้ทำบารมีอันยาวนาน แทนที่ท่านนั้นจะได้ไปพระนิพพานเป็นเวลาอันช้านานล่วงมาแล้ว ก็คงต้องรอจนกว่าพระโพธิสัตว์ท่านนั้นจะถึงเวลาลงมาตรัส จึงจะยอมเข้าพระนิพพานโดยสมัครใจ....ซึ่งมูลเหตุนี้เองพระโพธิสัตว์ใหญ่บาง ท่านจึงได้ถวายพระโพธิญานเป็นพุทธบูชา ลาพุทธภูมิ เพื่อผลต่างๆ มากมายที่จะตามมา....ซึ่งจะไม่ขอกล่าวในที่นี้ครับ


ที่มา
http://www.watthummuangna.com/home/community/index.php/topic,1035.0.html

การฝากกระแส...ความฉลาดใน อธิษฐานบารมี ตอนที่ 1

การฝากกระแส...ความฉลาดใน อธิษฐานบารมี ตอนที่ 1


ขออนุโมทนาบุญกับ คุณยุทธภูมิ หรือพี่โด่ง

ซึ่งเป็นผู้ประพันธ์บทความนี้ (ผ่านการสอบถามจากเจ้าตัวแล้วจ้า)



คำเตือน : โปรดใช้โยนิโสมนสิการ ปัญญาบารมี และหลักกาลามสูตร อย่างยิ่งยวดในการรับฟังครับ

ในบรรดาหลักวิชาบารมี ที่นับว่าช่วยย่นย่อการสร้างบารมีให้เต็มบริบูรณ์ได้ดีมากตัวหนึ่ง หากไม่นับปัญญาบารมีแล้ว ก็คงจะหนีไม่พ้น อธิษฐานบารมี ความ หมายของอธิษฐานบารมีนั้นแปลว่า ตั้งตนไว้ให้ตรงโดยเฉพาะ ซึ่งหมายถึงเมื่อเราค้นพบว่าสิ่งใดอันเป็นสิ่งสูงสุดที่เราพึงปรารถนาก็ให้ ทำจิตให้ตรงต่อสิ่งนั้น เช่น ฝ่ายสาวกภูมิ สิ่งที่พึงปราถนาสูงสุดคือพระนิพพาน ก็ให้อธิษฐานรวมกำลังบุญบารมีทุกอย่างให้เป็นกำลังที่จะตรงต่อพระนิพพาน ในส่วนของพุทธภูมินั้นจุดมุ่งหมายสูงสุดก็คือพระนิพพานเช่นเดียวกัน แต่ต่างกันในประเด็นที่ว่า จุดมุ่งหมายสูงสุดนอกจากพระนิพพานแล้ว ยังคงมุ่งหวัง ปรารถนาที่จะอภิเษกสัมมาสัมโพธิญานตรัสรู้ชอบได้ด้วยตนเอง พร้อมทั้งปราถนาที่จะทำงานรื้อขนสรรพสัตว์เข้าสู่พระนิพพาน ไม่ยินดีที่จะเข้าสู่พระนิพพานโดยลำพัง

การอธิษฐานบารมีนั้นสำคัญมาก ดวงจิตใดที่ฉลาดในการอธิษฐานบารมีจะสามารถย่นย่อเวลาในการก้าวย่างเข้าสู่พระนิพพานได้นับเป็นพันชาติ หรือมากกว่านั้น ทั้ง นี้ไม่ว่าจะเป็นในสายพุทธภูมิ หรือสายสาวกภูมิก็ตาม ดังตัวอย่างเมื่อครั้งหนึ่งที่หลวงพ่อพระราชพรหมญานท่านได้กล่าวกับคณะศิษย์ ว่า ด้วยเพราะตั้งความปราถนาว่าจะนิพพานในอนาคตกาลเบื้องหน้า แทนที่จะกล่าวว่าขอนิพพพานในชาตินี้ ทำให้ต้องคั่งค้างเวียนว่ายตายเกิดอีกนับเป็นพันๆชาติ(ท่านผู้ใดหาบทความดัง กล่าวได้แจ้งด้วยนะครับ ผมค้นหาอีกครั้งไม่เจอจริงๆครับ น่าจะเป็นตอนที่หลวงพ่อไปที่เขื่อนยันฮีนะ ตอนที่กล่าวถึงการถอดสร้อยเครื่องประดับถวายพระฯน่ะครับ) ทั้งที่บารมีนั้นเต็มพร้อมที่จะบรรลุความเป็นพระอริยเจ้าได้ ขาดแต่การอธิษฐานทำใจให้ตรงเท่านั้น....

คราวนี้จะมาเล่า เรียบเรียง เกี่ยวกับเรื่องของ "การฝากกระแส " ให้ได้อ่านกันนะครับ

คำว่า "กระแส" นั้นแปลออกมาได้หลายอย่างด้วยกัน อย่างที่หลวงตาม้าท่านบอกว่า คำว่ากระแสคำเดียว หมายถึง ตัวขับเคลื่อนพลังงาน ดังนั้นหากผู้ใดพอจะเข้าใจเรื่องพลังงาน และเรื่องรูป-นามมาบ้างแล้ว คงพอจะเข้าใจได้ไม่ยาก คำว่ากระแสจึงหมายถึง " คลื่นพลังงานของดวงจิต "

ดังนั้นการฝากกระแสจึงหมายถึง การ กำหนดฝากคลื่นพลังงานของจิตของเราเอาไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ว่าจะเป็น รูปธรรมหรือนามธรรม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์มากมายในภายภาคหน้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการไม่คลาดเคลื่อนจากความดีคือสัมมาทิฐิ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการได้รับกระแสบุญตลอดเวลากับสิ่งที่เราฝากกระแสเอาไว้ หรืออื่นๆ

องค์ประกอบของการฝากกระแส

1. ต้นกระแส ก็ได้แก่ผู้มีกำลังมาก หรือผู้ที่เรานับถือทั้งหลาย เช่น พระโพธิสัตย์ เทพ-พรหม หรือแม้แต่รูปธรรมที่ไม่มีชีวิต เช่น พระพุทธรูป วัด เจดีย์ พระพุทธบาท

2. ผู้อธิษฐาน ก็คือตัวเรานั่นเอง จะต้องมีกำลังจิตของสมาธิตั้งแต่ขณิกสมาธิเป็นต้นไป ยิ่งใช้กำลังของสมบัติ 8 ด้วยแล้วยิ่งมีกำลังมาก เหมือนการอธิษฐานปกติของเราใช้กำลังอุปจารสมาธิ กว่าจะฝากกระแสได้แนบแน่น ก็อาจจะใช้การอธิษฐานหลายครั้ง แต่หากฉลาดในการอธิษฐานฝากกระแส ก็จะใช้กำลังของสมาบัติเป็นบาทฐาน ถอยหลังมาที่อุปจารสมาธิ หรือทรงฌาน 4-8 แบบใช้งาน แล้วทำการอธิษฐานกระแส กระแสก็จะแนบแน่นยิ่งกว่า การอธิษฐานครั้งเดียวก็มีผล อย่างการอธิษฐานฝากกระแสไว้ที่พระนิพพาน เพื่อที่เวลาสิ้นชีพแล้วกระบวนการทางจิตและกรรมจะมีผลโน้มนำให้ตรงต่อพระ นิพพานนั่นเอง ถ้าใช้กำลังของสมาธิอย่างต่ำ หรือถ้าทำไม่เป็นอาจิณกรรมพอ ก็อาจจะคลาดได้หากมีกรรมอื่นๆที่หนักกว่ามาริดรอน

3. กระแสหรือวิธีการฝากกระแส แยกได้เป็น
กระแสตนเองล้วน
กระแสตนเองบวกกับกระแสครูบาอาจารย์ อย่างนี้กำลังจะมากกว่า นี่คือที่มาของบทสัพเพ หรือการกล่าวอ้างคุณพระรัตนตรัยทุกครั้งที่มีการอธิษฐาน และนี่คือเหตุผลหนึ่งที่ว่าทำไมผู้เข้าถึงพระไตรสรรคมณ์แล้ว จึงปิดทางนรกภูมิได้ เว้นแต่ได้กระทำอานันตนิริยกรรมมาก่อนหน้านี้ และเป็นเหตุผลว่าทำไมอารมณ์พระโสดาบันจึงต้องละวิกิกิจฉา คือการลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย....



ขอโมทนาบุญกับคุณยุทธภูมิ หรือพี่โด่ง ผู้ใจดีของเราจ้า

ที่มา http://www.watthummuangna.com/home/community/index.php/topic,1035.0.html